วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

คำขวัญประจำชาติของสาธารณรัฐฝรั่งเศส


เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (Liberté, Égalité, Fraternité)

ประวัติ

ในยุคสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสได้เกิดคำขวัญขึ้นมาว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ หรือความตาย" (Liberté, Égalité, Fraternité, ou la Mort!) แต่หลังจากนั้นในสมัยจักรวรรดิฝรั่งเศสและราชวงศ์บูร์บงฟื้นฟู คำขวัญดังกล่าวก็ได้ถูกลืมหายไปจนกระทั่งปี พ.ศ. 2391 ปีแอร์ เลอรูซ์ได้นำคำขวัญกลับคืนมาใช้อีกครั้งหนึ่ง และนายกเทศมนตรีนครปารีสได้เขียนคำขวัญดังกล่าวบนกำแพงเมือง จนกระทั่งสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ที่คำขวัญนี้ได้กลายเป็นคำขวัญอย่างเป็นทางการ
ในระหว่างการบุก
ประเทศฝรั่งเศสของเยอรมนีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คำขวัญได้ถูกแทนโดย "งาน ครอบครัว ปิตุภูมิ" (Travail, famille, patrie) โดยฟิลิป เปแตง หัวหน้ารัฐบาลวิชีฝรั่งเศสโดยการสนับสนุนของนาซีเยอรมนี อย่างไรก็ตามคำขวัญใหม่นี้ได้ถูกล้อเลียนเป็น "แสวงโชค อดอยาก ลาดตระเวน" (Trouvailles, famine, patrouilles) ซึ่งเป็นการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยวิชีฝรั่งเศสที่มีความขาดแคลนและความยากลำบากในการดำรงชีวิต
ปัจจุบัน
ประเทศฝรั่งเศสได้ใช้คำขวัญว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" (Liberté, Égalité, Fraternité) เป็นคำขวัญประจำชาติซึ่งก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี 2489 และ 2501


เสรีภาพ (Liberté) คือการเน้นในเสรีภาพของบุคคล หรือ ปัจเจกชนนิยม และได้ขยายไปในเรื่องเสรีภาพในด้านความคิด ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาหาความรู้ การพิมพ์และเผยแพร่ข่าวสาร รวมทั้งเสรีภาพในทางการเมือง

เสมอภาค (Égalité) คือความเท่าเทียมกันตามกฎหมายของปัจเจกชน ความเสมอภาค ขึ้นอยู่กับหลักความเที่ยงธรรม ความเท่าเทียมกันในเรื่อง สิทธิและหน้าที่ เช่น ความเท่าเทียมในด้านการเสียภาษี การรับใช้ชาติโดยการเป็นทหาร และสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง

ภราดรภาพ (Fraternité) คือความเป็นพี่เป็นน้องกัน มนุษย์ทุกคนจะต้องมีความเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อกันดุจพี่น้อง ความเป็นพี่เป็นน้อง เป็นสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้มนุษย์ คือ การไม่เน้นผิวพรรณ หรือ เผ่าพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น: